วิธีเลือกซื้อสี Citadel
อยากเริ่มลงสีมิเนียเจอร์ ไม่รู้ว่าต้องใช้สีประเภทไหนบ้าง แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร ลองอ่านคู่มือการเลือกสี Citadel กันก่อนเลย หรือถ้าอยู่เชียงใหม่ก็แวะเข้ามาคุยกับเราที่ร้าน Golden Goblin Games ได้นะ
Part 1: ลงสีพื้นฐาน
ถ้าต้องการลงสีให้โมเดลพอมีสีสันบ้าง เล่นได้แบบไม่อายใคร และไม่ต้องลงทุนมาก ก็เริ่มต้นจากสีแค่ 4 ประเภทนี้ก่อนได้
- สีรองพื้น (Primer Spray)
- สี Base
- สี Shade (บางคนก็เรียกว่า Wash)
- สี Contrast
สีสเปรย์รองพื้น
ก่อนจะลงสีมิเนียเจอร์ ควรจะลง สเปรย์รองพื้น เวลาลงสีจะได้ติดทนนานไม่หลุดล่อนง่าย รองพื้นสีขาวเหมาะสำหรับการเพ้นท์โมเดลสีสว่างสดใส ถ้าจะเพ้นท์โมเดลสีโทนเข้มก็ควรใช้รองพื้นสีดำ แต่ถ้าจะเพ้นท์รถถังหลายคัน ส่วนใหญ่เป็นรถถังสีเขียว ก็ใช้สเปรย์สีเขียวพ่นทั้งคันไปเลยก็ได้ แล้วค่อยเติมสีอื่นเข้าไป
สี Base
พอรองพื้นแห้งแล้ว ก็ลงสี Base ซึ่งเป็นสีพื้นสำหรับมิเนียเจอร์ เนื้อสีเข้มข้น ทืบ ทาได้เนียน ก่อนใช้งานควรแบ่งสีลงจานสีทีละน้อย ผสมน้ำเล็กน้อยเพื่อให้ทาง่าย สีเนียนไม่เป็นรอยพู่กัน
สี Shades
สี Shades เป็นสีโปร่งแสงที่ไหลเข้าสู่ร่องของโมเดล และให้การแรเงาที่ชัดเจนพร้อมกับพื้นผิวแบบด้าน
สี Citadel Contrast
Citadel Contrast เป็นสีสูตรใหม่ที่จะช่วยประหยัดเวลาลงสีโมเดลขึ้น เพียงใช้สี Contrast ทาทับสีรองพื้นโทนสว่าง เพื่อลงสีพื้นและสีเงาในการทาครั้งเดียว
เริ่มต้นด้วยการลงสีรองพื้นสีเทาบนโมเดล จากนั้นลงสี Contrast บนโมเดลโดยไม่จำเป็นต้องผสมน้ำ ใช้พู่กันเกลี่ยสีให้ทั่วเพื่อไม่ให้สีไปรวมตัวกันในร่องของโมเดล
สี Contrast สามารถผสมกับ Contrast Medium เจือจางสีให้อ่อนลงเพื่อใช้เป็น Glaze ย้อมเปลี่ยนเฉดสีบางส่วนของโมเดลได้ด้วย
Space Marine ที่ลงสีรองพื้น Grey Seer แล้ว
ลงสี Citadel Contrast: Ultramarines Blue ลงบนโมเดล
Space Marine หลังจากลงสี Contrast: Ultramarines Blue เพียงชั้นเดียว!
เพียงแค่สีพื้นฐาน 4 ประเภทนี้ ก็ทำให้มิเนียเจอร์ดูน่าเล่นขึ้นมาเยอะเลย ถ้าทำ 4 ขั้นตอนง่ายๆ นี้ได้แล้ว อยากลองอัพเลเวลกันอีกซักนิด แต่งโมเดลให้ดูสมจริงขึ้นอีกหน่อย ก็อ่านตอนที่ 2 กันต่อได้เลย
Part 2: เพิ่มมิติ
หลังจากลงสีพื้นฐานตามที่อธิบายในตอนที่ 1 แล้ว ก็จะได้มิเนียเจอร์ที่พร้อมนำไปเล่นแล้วล่ะ แต่ถ้าอยากให้มิเนียเจอร์ดูดีกว่าเดิม ในตอนที่ 2 นี้ จะแนะนำสีที่ใช้ทำแสงเพื่อให้มิเนียเจอร์มีมิติมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีให้เลือก 2 ประเภท คือ สี Dry และสี Layer
สี Citadel Dry
สี Citadel Dry เป็นสีสำหรับทำแสงด้วยเทคนิคการปัดพู่กันแห้ง (drybrush) เนื้อสีแห้งและข้นกว่าปกติ
การใช้งานก็แค่แตะสีกับพู่กันเล็กน้อย แล้วเช็ดออกด้วยกระดาษทิชชู่ให้สีบนพู่กันเกือบแห้ง แล้วค่อยๆ ปัดพู่กันบนส่วนที่นูนของมิเนียเจอร์ให้เกิดแสงตรงส่วนนั้น ไม่ต้องผสมน้ำเวลาใช้
ตัวอย่างการปัดพู่กันแห้งบน Dreadnought ลองดูขาที่อยู่ใกล้พู่กันเทียบกับขาอีกข้างที่ยังเป็นสีดำ
ทำ drybrush เสร็จแล้ว เห็นความแตกต่างไหม
สี Citadel Layer
สี Citadel Layer เป็นสีสำหรับทำแสง เพื่อเพิ่มรายละเอียดให้กับมิเนียเจอร์ เนื้อสีมีความโปร่งแสงเล็กน้อย เหมาะกับการไล่สี หรือทาขอบเพื่อเพิ่มมิติให้มิเนียเจอร์
Part 3: สีพิเศษ
ในตอนที่ 3 จะแนะนำสีประเภทพิเศษ (Technical) ใช้เพิ่มความโดดเด่นสมจริงให้กับมิเนียเจอร์มากขึ้นกว่าเดิม
สี Texture
เป็นสีสำหรับทำฐานมิเนียเจอร์โดยเฉพาะ เนื้อสีหยาบ ทาแล้วจะเกิดพื้นผิวขรุขระเสมือนทราย ดิน โคลน หิมะ ใช้ง่าย แค่ตักแล้วเกลี่ยไปตามฐานของมิเนียเจอร์ หลังจากทาแล้วสามารถใช้สี Shade และ Dry เพื่อเพิ่มแสงและเงาให้โดดเด่นกว่าเดิมได้
Effects
เป็นสีสำหรับทำเอฟเฟ็คพิเศษ เช่น สนิม เลือด เมือก สามารถประยุกต์กับเทคนิคอื่นๆ เพื่อทำเอฟเฟคเจ๋งๆ ให้กับมิเนียเจอร์ได้
Medium
สี Medium เป็นสีใส ใช้เจือจางสีประเภทอื่นให้อ่อนลงเพื่อย้อมเปลี่ยนเฉดสีโมเดล มี 2 แบบ Lahmian Medium เหมาะสำหรับผสมกับสี Shade และ Layer ส่วน Contrast Medium เหมาะสำหรับผสมกับสี Contrast
Varnish
สี Varnish เป็นสีเคลือบ ใช้ทาเพื่อติดแผ่นลอกลาย (Transfer sheet) เปลี่ยนพื้นผิวโมเดลให้ด้านหรือมัน และกันสีหลุดระหว่างการเล่น มีทั้งแบบผิวด้าน (Stormshield) และผิวมัน (Ardcoat)
ตัวอย่างการเคลือบด้านด้วย Stormshield
ตัวอย่างการเคลือบเงาด้วย Ardcoat
Citadel Air
Citadel Air เป็นสีสำหรับพ่นโดยเฉพาะ สามารถใช้กับแอร์บรัชได้ทันที หรือผสมกับตัวทำละลายเพื่อเจือจางสีให้เหลวตามความต้องการได้
อ่านเรื่องสีประเภทต่างๆ และวิธีการใช้สีเพิ่มเติมได้ที่ https://citadelcolour.com/
อัปเดตล่าสุด: สิงหาคม 2024