คู่มือเลือกซื้อ Magic The Gathering
Magic the Gathering (MTG หรือ เมจิก) การ์ดเกมชื่อดังที่อยู่ในตลาดมากว่า 30 ปี สำหรับมือโปรที่ห่างหายจากการเล่น Magic ไปนาน หรือมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเล่นเกมนี้กับเพื่อนอาจจะเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อมากมาย ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะซื้ออะไรก่อน ลองมาดูคู่มือเลือกซื้อ Magic the Gathering ได้เลย
ข้อมูลพื้นฐาน
เมจิกเป็นเกมการ์ดที่ผู้เล่นสมมุติตัวเองว่าเป็นจอมเวทย์ที่มีพลังมหาศาล ใช้พลังเวทย์มนต์ซึ่งเรียกว่ามานา (Mana) จากดินแดนรอบตัวสร้างครีเอเจอร์ขึ้นมาและร่ายเวทย์ต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม การต่อสู้จะจบลงเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพลังชีวิตหมด หรือการ์ดหมดกองไม่สามารถจั่วได้
ในเกมการ์ดเมจิก มีเวทย์ทั้งหมด 5 สีดังนี้
- สีดำ: เป็นสายเรียกผีดิบ ทำลายสิ่งต่างๆ ขโมยพลังชีวิต หรือเรียกครีเอเจอร์กลับมาจากสุสาน
- สีฟ้า: เป็นสายเรียกสัตว์น้ำ วิญญาณ สะท้อนเวทย์ ควบคุม หรือทำให้ครีเอเจอร์ฝ่ายตรงข้ามหลับ
- สีเขียว: เป็นสายเรียกเอล์ฟและสัตว์ใหญ่จากป่า เน้นเวทย์เพิ่มพลังโจมตี และเพิ่มความสามารถพิเศษอื่น
- สีแดง: เป็นสายเรียกก็อบลิน โจมตีไว ร่ายเวทย์ยิงลูกไฟและสายฟ้าอย่างรวดเร็ว
- สีขาว: เป็นสายเรียกเทพและสัตว์บินได้ เน้นเพิ่มพลังชีวิต และทำลายครีเอเจอร์บนสนามทั้งหมด
การเล่นเมจิก ต้องเลือกการ์ดมาจัดเป็นเด็คของตัวเอง ซึ่งสามารถจัดเด็คสีเดียวหรือหลายสีก็ได้
เด็คที่มีสีเดียว เรียกว่า Monocolor Deck หรือเรียกตามสีว่า Mono Red, Mono White เป็นต้น
เด็ค 2 สี ค่อนข้างเป็นที่นิยม และมีชื่อที่ผู้เล่นมักเรียกกัน เช่น Azorius (ขาว/ฟ้า) Boros (แดง/ขาว) Dimir (ฟ้า/ดำ) Golgari (ดำ/เขียว) Gruul (แดง/เขียว) Izzet (ฟ้า/แดง) Orzhov (ขาว/ดำ) Rakdos (ดำ/แดง) Selesnya (ขาว/เขียว) Simic (ฟ้า/เขียว)
เด็ค 3 สี มีคนเล่นไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ก็มีชื่อเฉพาะเหมือนกัน เช่น Abzan (ขาว/ดำ/เขียว) Bant (ขาว/ฟ้า/เขียว) Esper (ขาว/ฟ้า/ดำ) Grixis (ฟ้า/ดำ/แดง) Jeskai (ขาว/ฟ้า/แดง) Jund (ดำ/แดง/เขียว) Mardu (ขาว/ดำ/แดง) Naya (ขาว/แดง/เขียว) Sultai (ฟ้า/ดำ/เขียว) Temur (ฟ้า/แดง/เขียว)
ไม่ต้องจำชื่อพวกนี้ก็ได้ แต่อ่านผ่านตาไว้ให้รู้ว่ามันมีชื่อด้วย ถ้าจะจัดเด็ค 4-5 สีก็ได้นะ แต่ยังไม่เคยเห็นใครเล่นเลย
ชุดการ์ด
โดยปกติแล้ว Wizards of the Coast จะออกการ์ดเมจิกชุดใหม่ทุก 3 เดือน แต่ละชุดมีธีมของตัวเอง มีการ์ดประมาณ 250 ใบ และอาจมีระบบการเล่นแบบใหม่เพิ่มเข้ามา ยกตัวอย่าง เช่น
- Innistrad: Crimson Vow เป็นธีมแวมไพร์ มีการ์ดพิเศษ 2 หน้า พลิกด้านหนึ่งเป็นกลางวัน พลิกอีกด้านเป็นกลางคืน
- Kamigawa: Neon Dynasty เป็นธีมซามูไร นินจา ไซเบอร์พังค์ มีการต่อสู้ด้วยวิชานินจา
- Streets of New Capenna เป็นธีมมาเฟีย 5 ตระกูลแย่งชิงอำนาจ ชุดนี้เลยมีการ์ดหลายสีพอสมควร
การ์ดแต่ละชุดผลิตมาจำนวนจำกัด เมื่อขายหมดก็จะไม่ผลิตเพิ่ม ด้วยเหตุนี้การ์ดเมจิกจึงมีมูลค่าสูงสำหรับนักสะสม
ตอนจัดเด็ค สามารถใช้การ์ดจากหลายชุดผสมกันได้ โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบการเล่น
รูปแบบการเล่น (Format)
Magic the Gathering มีรูปแบบการเล่นมากมาย ผู้เล่นมักเรียกกันว่า "ฟอร์แมต" ถ้าอยากจะเล่นที่ร้านใกล้บ้านก็ควรรู้จักฟอร์แมตยอดนิยมไว้ซักหน่อย
Standard เป็นฟอร์แมตสำหรับเล่น 2 คน นิยมใช้ในการแข่งขัน ในเด็คจะต้องมีการ์ดอย่างน้อย 60 ใบ ใส่การ์ดชื่อเดียวกันได้ไม่เกิน 4 ใบ และต้องเป็นการ์ดรุ่นที่กำหนด ซึ่งฟอร์แมตนี้จะใช้การ์ดที่วางจำหน่ายไม่เกิน 3 ปี เช็คชุดการ์ดที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้
https://magic.wizards.com/en/content/standard-formats-magic-gathering
Commander เป็นฟอร์แมตสำหรับเล่น 2-6 คน ในเด็คจะต้องมีการ์ดอย่างน้อย 99 ใบ แต่ละใบต้องไม่ซ้ำกัน ในเด็คจะต้องมี Commander (การ์ดแบบ legendary creature หรือ planeswalker) ที่สามารถร่ายเมื่อไหร่ก็ได้ สามารถใช้การ์ดจากชุดไหนก็ได้
Modern เป็นฟอร์แมตที่ต้องใช้การ์ดจากชุด Mirrodin (2003) เป็นต้นไป
Pioneer เป็นฟอร์แมตที่ต้องใช้การ์ดจากชุด Return to Ravnica (2012) เป็นต้นไป
นอกจากนี้ยังมีฟอร์แมตอื่นๆ อย่าง Brawl และ Pauper ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะจำกัดชุดการ์ดที่ใช้เล่นได้ ถ้าอยากศึกษาทุกฟอร์แมตที่มีก็เข้าไปดูได้ที่ลิงค์นี้
https://magic.wizards.com/en/formats
ซอง Booster
เมื่อการ์ดชุดใหม่วางจำหน่าย ผู้เล่นส่วนใหญ่จะพุ่งเข้าไปเปิดซอง booster กันก่อนเลย
Booster เป็นซองที่บรรจุการ์ดเมจิกแบบสุ่ม ความสนุกมันอยู่ตรงที่ได้ลุ้นนี่แหละ ว่าเปิดมาจะเจอการ์ดอะไรบ้าง
ณ ปัจจุบัน booster แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- Play Boosters เป็นซองที่ใช้ในการแข่งฟอร์แมต เช่น Sealed และ Draft ที่ต้องเปิดซองและจัดเด็คกันสดๆ เพื่อแข่งกันในงาน
- Collector Boosters เป็นซองที่ราคาสูงกว่า play booster แต่มีการ์ดฟอย อาร์ตพิเศษ และการ์ดหายาก เหมาะสำหรับสายสะสม
ถ้าเคยเห็น booster นอกเหนือจาก 2 ประเภทที่เรากล่าวถึงข้างต้น เช่น Set Booster, Theme Booster หรือ Jumpstart Booster ก็แปลว่าเป็น booster ของชุดการ์ดรุ่นที่เก่ากว่าปี 2024
ถ้าเปิดซอง booster ของชุดไหนก็จะได้การ์ดของชุดนั้น เช่น ชุด Outlaws of Thunder Junction มีการ์ดทั้งหมด 274 ใบ ถ้าเปิดซอง play booster รุ่น Outlaws of Thunder Junction ก็จะได้การ์ด 14 ใบจากทั้งหมด 274 ใบ
การ์ดเมจิกมีระดับความหายากไม่เท่ากัน ใน booster อาจมีการ์ดหลายระดับในซองเดียวกัน โดยแบ่งได้ 4 ระดับ คือ Common, Uncommon, Rare และ Mythic Rare
สินค้าอื่นๆ
นอกจากซอง booster แล้วก็ยังมีสินค้าอื่นๆ เช่น
- กล่อง Pre-release ประกอบด้วย play booster 6 ซอง มักจะวางขายก่อนวันวางจำหน่ายสินค้าชุดใหม่
- Bundles ปกติแล้วจะมี plays boosters 9 ซอง การ์ดแลนด์ครบทุกสีเหมาะสำหรับผู้เล่นใหม่เอาไว้จัดเด็ค
- Commander Decks เป็นเด็คที่จัดมาแล้วสำหรับเล่นในฟอร์แมต Commander แกะกล่องมาเล่นได้เลย มีให้เลือกหลายสไตล์
- Starter Kits เป็นเด็คที่จัดมาแล้วสำหรับเล่นในฟอร์แมต Standard แกะกล่องมาเล่นได้เลย
สนใจเล่นการ์ด Magic the Gathering
วิธีเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด เราแนะนำให้ไปที่ร้านใกล้บ้าน ร้านที่ขายการ์ดเมจิกจะสามารถสอนเล่นได้ ถ้าอยากศึกษากฎการเล่นก่อนก็อ่านได้ที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการตามลิงค์ด้านล่างนี้เลย
https://magic.wizards.com/en/how-to-play
อัปเดตล่าลุด: กรกฎาคม 2024